กทปส.จัด “ BTFP SHOWCASE” โชว์ศักยภาพการให้ทุนสู่สาธารณะ

News Update

กทปส.โชว์ศักยภาพผลงานการให้ทุน จัดงาน BTFP SHOWCASE BY NBTC  นำเสนอ 17 เคทตัวอย่างที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อ เศรษฐกิจ สังคมและสาธารณะ เผยแพร่ออกสู่สายตาประชาชน  

                วันนี้ (21 พ.ย.65) ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล ลาดพร้าว ลานกิจกรรม ชั้น 1 โซน B ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ  บุญใบชัยพฤกษ์   ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นประธานเปิดงาน “ BTFP SHOWCASE BY NBTC “ ซึ่งกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) จัดขึ้น  เพื่อนำเสนอผลงานวิจัยที่ได้รับเงินสนับสนุนจาก กทปส. สู่สาธารณะ  โดยคัดเลือกผลงานที่มีความโดดเด่น เน้นผลงานที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคมและสาธารณะกว่า 17 โครงการมาร่วมจัดแสดง หวังส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนากิจการโทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศที่เกี่ยวข้อง และมุ่งให้เกิดการต่อยอดพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สังคมและประเทศในอนาคต   

               ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ  บุญใบชัยพฤกษ์   ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ดีที่ พรบ.กำกับคลื่นความถี่ กสทช.ปี 2553 กำหนดเรื่องกองทุนวิจัยและพัฒนา ทางด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม ซึ่งเป็นโอกาสทำให้ประชาชนได้เข้าถึง ทำให้ชุมชน ผู้ประกอบการสามารถมีทุนในการพัฒนาตัวเอง ซึ่งจะยึดโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ 4 ด้าน คือ ความมั่นคง  การแข่งขัน  การสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ และการสร้างโอกาสสร้างความเสมอภาคในสังคม

               “กองทุนนี้ เขียนไว้ใน พรบ.อยู่แล้วว่าจะต้องมีกองทุนในการวิจัยและพัฒนา  ซึ่งการวิจัยหมายถึงสิ่งใหม่ ๆ  ส่วนการพัฒนาคือการทำให้ดียิ่งขึ้นไปอีก  ดังจะเห็นได้จากการนำเสนอในบูธต่าง  ๆ ที่เป็นการโชว์เคทว่าที่ทำมาน่าจะเกิดประโยชน์อะไรบ้าง เช่น การพัฒนาแอพพลิเคชั่นฉลาดโอน ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นประเด็นอยู่ตอนนี้ในเรื่องคอลเซ็นเตอร์ต่าง ๆ โดยก่อนที่เราจะโอนเงิน ควรจะเชคก่อนว่าบัญชีที่จะโอนนั้นขึ้นแบล็คลิสต์อะไรหรือไม่ ซึ่งสามารถเชคได้ในแอพพลิเคชั่นดังกล่าว   หรือเรื่องเอ็กซเรย์ที่มีการนำเทคโนโลยีเอไอมาช่วยในการวินิจฉัย หรือการสร้างแบบจำลองและระบุตำแหน่งในถ้ำ ซึ่งนี่คือตัวอย่างที่ กองทุน กทปส.ให้ทุนไปวิจัยและพัฒนาเพื่อประโยชน์สาธารณะ  โดยกองทุนนี้จะเป็นกองทุนเปิด   หน่วยงานต่าง  ๆ สามารถมาขอทุนได้  และยังคงเปิดกว้างในหัวข้อวิจัยด้านต่าง ๆ   ไม่ได้เน้นไปด้านใดด้านหนึ่ง อย่างไรก็ดีกองทุนคาดหวังว่าทุนที่ให้ไปจะทำให้เกิดผลงานที่สามารถต่อยอดใช้ประโยชน์ได้ในอนาคต” ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ  กล่าว

               ด้านนางสาวชนัณภัสร์  วานิกานุกูล  ผู้อำนวยการส่วน รักษาการแทน ผู้อำนวยการสำนักกองทุนวิจัยและพัฒนา ฯ เปิดเผยว่า ทิศทางการดำเนินงานและสนับสนุนการพัฒนาวิจัยของ กทปส. ในปีนี้ยังคงเดินหน้าตามแผนปฏิบัติการกองทุนระยะ 4 ปี (พ.ศ. 2563-2566 ) มุ่งมั่นดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึงครอบคลุม มุ่งส่งเสริม ผลงานนวัตกรรมงานวิจัย  การพัฒนาบุคลากร การคุ้มครองผู้บริโภค และมุ่งสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ผ่านกลไกการจัดสรรเงินกองทุน

                ทั้งนี้ที่ผ่านมา กทปส. ได้ดำเนินการจัดสรรเงินกองทุน ในรูปแบบต่าง ๆ ดังนี้คือ  ทุนประเภทที่ 1 ทุนเปิดกว้าง (Open Grant) ที่เปิดโอกาสให้ผู้สนใจดำเนินโครงการตามวัตถุประสงค์ของกองทุน สามารถยื่นขอรับการส่งเสริมและสนับสนุน โดยจะมีการเปิดให้ทุนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยปกติจะเปิดรับคำขอเป็นเวลา 3 เดือน ในช่วงเดือน มค.-มีค. ของทุกปี ทุนประเภทที่ 2 เป็นทุนที่คณะกรรมการบริหารกองทุนประกาศกำหนด คาดว่าในต้นปี 2566 มีแผนที่จะประกาศขอบเขตของงาน (Terms of reference : TOR) ให้ผู้สนใจได้ยื่นข้อเสนอโครงการประมาณกว่า 30 โครงการ และมีแนวโน้มขยายกรอบวงเงินสำหรับทุนต่อเนื่องเพื่อต่อยอดงานวิจัยที่มีแนวโน้มจะพัฒนาได้ในเชิงพาณิชย์  ส่วนทุนประเภทที่ 3 เป็นทุนตามนโยบายของ กสทช. กำหนดที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกองทุน เช่น การจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (Universal Service Obligation หรือ USO) และทุนประเภทที่ 4 ทุนสนับสนุนการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

               “ที่ผ่านมา กทปส. มีผู้ขอรับทุนสนับสนุนเป็นสถาบันการศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน คิดเป็นสัดส่วนสูงที่สุด รองลงมาจะเป็นผู้ขอรับทุนสนับสนุนที่เป็นหน่วยงานของรัฐ ผู้ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมกระจายเสียง โทรทัศน์ โทรคมนาคม และสมาคม มูลนิธิ โดยเฉลี่ยใกล้เคียงกัน  ทั้งนี้ในแผนดำเนินงานในปี 2566 กทปส. จะทำการปรับปรุงประกาศและหลักเกณฑ์การให้ทุนเพื่อเพิ่มโอกาสให้ทุกภาคส่วนของสังคมสามารถการยื่นขอรับทุนให้กว้างมากขึ้น โดยขอเชิญทุกท่านติดตามรายละเอียดการขอรับทุนได้ตามช่องทางประชาสัมพันธ์ของ กทปส. ยังคงเดินหน้าส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์  และกิจการโทรคมนาคม ของประเทศ ผ่านเงินกองทุนวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างประโยชน์สาธารณะ ดังเจตนารมณ์ตามชื่อกองทุนเพื่อสาธารณะอย่างแท้จริงต่อไป” นางสาว ชนัณภัสร์ กล่าว  

               สำหรับตัวอย่างผลงานที่ได้รับการคัดเลือกมาจัดแสดงในงาน เป็นโครงการที่พร้อมต่อยอดโครงการเพื่อขยายผลโครงการ ทั้งเชิงพาณิชย์ และเชิงประโยชน์สาธารณะ จำนวน 7 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย (TTRS)  ผลงานของมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการและสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) 2. โครงการพัฒนาโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ในการวินิจฉัยภาพทางรังสี  จากภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล   3. โครงการพัฒนาและขยายผลระบบรับแจ้งและบริหารจัดการปัญหาเมืองด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศสู่ระดับการปกครองส่วนท้องถิ่น ผลงงานศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.)    4. โครงการโปรแกรมประยุกต์เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลและค้นหาตำแหน่งของวัตถุในอวกาศ ผลงานศูนย์ปฏิบัติการทางอวกาศกองทัพอากาศ กองทัพอากาศ      5. โครงการระบบสอดส่องคุณภาพพื้นผิวจราจรโดย Machine Learning ด้วยข้อมูลจาก Sensor ในยานพาหนะผ่านโครงข่าย IoT  ผลงานจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์       6. โครงการศึกษาแนวทางการใช้คลื่นความถี่สำหรับระบบสื่อสารรวมทั้งการสร้างแบบจำลองและระบุตำแหน่งในถ้ำ ผลงานจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี     และ 7. โครงการพัฒนาองค์ความรู้สื่อมวลชนด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ จากมูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย

               และ 10 โครงการคัดสรร จาก กทปส. ที่สามารถสร้างผลลัพธ์ที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อภาคเศรษฐกิจ สังคม และประชาชนในวงกว้าง  ได้แก่    1. โครงการจัดทำแนวทางพัฒนาระบบต้นแบบเพื่อสนับสนุนงานป้องกันและปราบปรามมิจฉาชีพออนไลน์ที่ไม่สามารถระบุตัวตน ผลงานมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร  2. โครงการแอพพลิเคชันเพื่อสร้างเกษตรฟาร์มใหญ่บริหารจัดการข้อมูลผลิตผลและการตลาดสำหรับเครือข่ายเกษตรกรหน่วยงาน ผลงานมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ   3. โครงการ Stop Fake, Spread Facts หน่วยงาน จากสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์   4. โครงการส่งเสริมความเข้มแข็งของเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)   5. โครงการการวิจัยและพัฒนาระบบเรดาร์เพื่อการตรวจจับโดรนเพื่อป้องกันการบินโดรนที่ไม่ได้รับอนุญาต  จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ 

              6. โครงการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนการเลี้ยงดู เด็กเชิงบวกออนไลน์สำหรับผู้ปกครองเพื่อพัฒนาเด็กไทยให้เต็มศักยภาพและป้องกันผลของสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านจอต่อเด็กและวัยรุ่น จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   7. โครงการเปาเปาผจญภัยในโลกนิทาน  จาก บริษัท เอลิควอร์ กรุ๊ป จำกัด   8. โครงการพัฒนาองค์ความรู้เสริมสร้างทักษะการเล่าเรื่อง และกลยุทธ์เนื้อหาข้ามสื่อ (Transmedia Storytelling and Content Strategy Workshop and Knowledge Lab) จาก สถาบันจัดการปัญญาภิวัฒน์     9. โครงการบริการการแพทย์โดยใช้ระบบแพทย์ทางไกล (Telemedicine) และเทคโนโลยี Blockchain ในกลุ่มโรคที่เกิดจากการทำงาน และเกี่ยวเนื่องจากการทำงาน จากมหาวิทยาลัยนเรศวร  และ 10. โครงการพัฒนาศักยภาพทางด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ผ่านเครือข่ายสารสนเทศสำหรับอุตสาหกรรมไทย จาก มหาวิทยาลัยมหิดล

               นอกจากนี้ภายในงานยังมี “  หมอเจี๊ยบ ลลนา ก้องธรนินทร์” มาร่วมพูดคุยในหัวข้อ “มุมมองต่อการพัฒนาประเทศด้วยนวัตกรรมฝีมือคนไทย”  และ “ คุณเซ้ง วิชัย แซฟ่าน และ คุณบิลลี่ ภัทรชนน  อ่อนสะอาด” (นักแสดงจาก “แอบหลงรัก เดอะซีรี่ย์”) มาร่วมพูดคุยในหัวข้อ “ตัวแทนคนรุ่นใหม่กับมุมมองต่อการพัฒนาประเทศจากการพัฒนาของกองทุน”

               ผู้สนใจยื่นขอรับการจัดสรรเงินจาก กทปส. สามารถติดตามรายละเอียดการยื่นขอรับทุนผ่านช่องทางออนไลน์ได้ที่ เฟซบุ๊กแฟนเพจ www.facebook.com/BTFPNEWS และที่เว็บไซต์ https://btfp.nbtc.go.th